“ อีเซน่าอยู่ ส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับชีวิตให้มีสุข ”

สนุกเรียนรู้ที่ป่าโนนใหญ่…ป่าไม่ธรรมดา

         ชาวบ้านตำบลอีเซ อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ ได้อาศัยและใช้ประโยชน์ป่าชุมชนโนนใหญ่เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติ เก็บหาสมุนไพรเพื่อรักษาโรค ใช้เศษไม้จากป่าเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม หรือใช้ป่าเป็นที่เลี้ยงสัตว์ คนที่นี่มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับผืนป่าแห่งนี้มาอย่างยาวนาน

ลักษณะของป่าชุมชนโนนใหญ่เป็นป่าผสมประกอบด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าบุ่งป่าทามพืชพรรณก็จะมีความหลากหลายตามสภาพ ในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ มีต้นไม้หลัก ได้แก่ ต้นยางนา นาบากกระบก ตะแบก พันชาติ มะค่า ในป่าเต็งรังซึ่งเป็นป่าในเขตที่มีหน้าดินตื้น ดินชั้นล่างเป็นหินลูกรัง ไม้สำคัญได้แก่ ไม้เต็งไม้รัง ในเขตที่เป็นป่าบุ่งป่าทาม พืชหลักจะเป็นไม้หว้าไม้สะแก เสียว

ความอุดมสมบูรณ์ของป่าสะท้อนจากเรื่องเล่าที่ได้สืบค้นเรื่องราวของชุมชนตำบลอีเซ คำว่า อีเซ มาจากอาการของช้างที่ป่วยแล้วล้มตายบริเวณปากเซริมแม่น้ำห้วยทับทัน

forest 2

ในปี 2538 ป่าแห่งนี้ยังได้เป็น “ห้องเรียนธรรมชาติ”ให้แก่เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านอีเซ (คุรุราษฎร์วิทยา)มี “ครูจ่อย” หรือ “ครูพีรชัย วงษ์เลิศ” เป็น “หัวขบวน” จัดการเรียนการสอนในป่าแรกเริ่มเป็นการเรียนที่เป็น “ห้องเรียนอิสระ” เน้นการเดินป่าในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ นักเรียนคนใดสนใจก็มาลงชื่อสมัครเป็นสมาชิก พากันไปเรียนรู้ในป่าชุมชนโนนใหญ่ทุกวันเสาร์ กระบวนการเรียนรู้จะนัดแนะกันว่าจะไปทำกิจกรรมอะไร สถานที่ตรงไหน จะมีคนในชุมชนหรือผู้รู้ในชุมชนใครบ้าง ไปเรียนไปเล่น เช่น การเรียนรู้เรื่องเห็ด ผลไม้ป่า ชนิดและพันธุ์ปลา พันธุ์ไม้ที่พบในป่า เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย โดยใช้การเล่นผสมผสานกับการเรียนรู้ธรรมชาติ ตลอดระยะเวลาได้มีการพบปะผู้ปกครองปราชญ์ชุมชนที่มีความรู้เฉพาะด้านต่างๆ เช่น หมอยาพื้นบ้านภูมิปัญญาในสาขาต่างๆ มาร่วมเป็นวิทยากรซึ่งพบว่าเป็นความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ เมื่อกลุ่มมีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้นและมีความเข้มแข็ง จึงปรึกษาร่วมกับคณะครู นักเรียน เปลี่ยนชื่อจาก ห้องเรียนอิสระมาเป็น“กลุ่มเยาวชนคนรักษ์โนนใหญ่” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา

ป่าโนนใหญ่ได้รับการพัฒนาให้มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติเด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ความเป็นมาการตั้งถิ่นฐาน ความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ในป่าโนนใหญ่ ตามเส้นทางประกอบด้วยฐานการเรียนรู้ ดังนี้

forest 3

ฐานเรียนรู้ เสียงธรรมในธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2553 ไม้พะยูงในผืนป่าแห่งนี้ถูกโจรลักลอบตัดไปจำนวน 3 ต้น เพื่อระลึกถึงความสูญเสียและเตือนใจให้ฅนเกรงกลัวต่อบาป ชาวบ้านในชุมชนและพระคุณเจ้าได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 9 เมตร ไว้เป็นพุทธบูชาในผืนป่า โดยมีลานฝึกปฏิบัติธรรม มีหนองน้ำสำหรับสัตว์ป่าลงมาดื่มกินเป็นการนำความรู้ท้องถิ่นด้านสิ่งแวดล้อมเชิงวัฒนธรรมมาร่วมกันพิทักษ์รักษาทรัพยากร

forest 4

ฐานเรียนรู้ ดงเมือง เจ้าพ่อแห่งโนนใหญ่

จากตำนานมีการเล่าสืบสานกันมาว่า เจ้าพ่อดงเมืองเป็นทหารเอกของเจ้าพ่อดงภูดิน ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่ป่าดงภูดิน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อาณาเขตการปกครองของเจ้าพ่อดงภูดินจะครอบคลุมพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์และศรีสะเกษ เจ้าพ่อดงเมืองได้ถูกส่งมาเป็นทหารเอกประจำอยู่ที่เมืองโนนใหญ่ พร้อมกับทหารเอกอีกหลายนายรายรอบป่าแห่งนี้ ทำหน้าที่เฝ้ารักษาป่าไม้ทรัพยากรทางธรรมชาติ ตลอดทั้งผู้คนให้อยู่เย็นเป็นสุข

ชาวบ้านตำบลเสียว และตำบลอีเซ ใช้สถานที่แห่งนี้ประกอบพิธีกรรมก่อนเริ่มต้นการทำนา โดยมีความเชื่อว่าเจ้าพ่อจะเป็นผู้คอยให้ความคุ้มครองผู้คนในหมู่บ้านคุ้มครองผืนป่า ให้อุดมสมบูรณ์ทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลฐานการเรียนรู้แห่งนี้จึงสื่อให้รู้ถึงแนวคิดและโลกทัศน์การจัดการป่าของคนท้องถิ่นตำบลอีเซได้อย่างดี

forest 5

ฐานเรียนรู้ที่ แต้หลุบ…ผลุบไม่โผล่

ฐานเรียนรู้แห่งนี้ เป็นหลุมขนาดใหญ่ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันว่า บริเวณนี้เคยมีต้นแต้ขนาดใหญ่ ต่อมาต้นแต้เกิดยืนต้นตาย กระทั่งลำต้นได้เกิดการทรุดตัวลงสู่พื้นดิน ทำให้พื้นที่ดินบริเวณนี้กลายเป็นหลุมขนาดใหญ่ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “แต้หลุบ” จนปัจจุบันสิ่งที่ได้เรียนรู้เมื่อพืชและสัตว์ตายลงจะเน่าเปื่อยผู้สลายสารอินทรีย์ซึ่งมีอยู่ทุกหนทุกแห่งทั้งในอากาศในน้ำ และในดิน จะทำหน้าที่สลายจนเกิดการเน่าเปื่อยฝังจมอยู่ในดินหรือน้ำแล้วสลายกลายเป็นสารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชต้นอื่นๆ ซึ่งพืชจะดูดไปใช้ต่อไป

forest 6

ฐานเรียนรู้ พะยูงจ๋า อย่าร้องไห้

ผืนป่าโนนใหญ่แห่งนี้มีพะยูงนับพันต้น เมื่อพะยูงกลายเป็นต้นไม้ที่มีราคา พะยูงในป่าโนนใหญ่ถูกกลุ่มมิจฉาชีพลักลอบตัดไปจำนวน 37 ต้น เหลือให้เห็นเพียงตอเท่านั้นแต่ตอพะยูงต้นหนึ่งพยายามปรับตัวเอาชีวิตรอดโดยการแตกแขนง รอบๆ ต้นของตอเดิมแล้วค่อยๆเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะรากใต้ดินสามารถหาน้ำและแร่ธาตุลำเลียงมาช่วยลำต้นต่อได้นั่นเอง

พะยูงจัดเป็นไม้มงคลที่คนไทยจัดลำดับให้อยู่ในไม้มงคล9 ชนิด ได้แก่ ชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ ทองหลวง ไผ่สีสุกกันเกรา ทรงบาดาล สัก พะยูง และขนุน เชื่อว่าใครได้ปลูกไว้ประจำบ้าน จะทำให้บุคคลในบ้านมีแต่ความสุขความเจริญในชีวิต ปัจจุบันพะยูงมีเหลือเฉพาะภาคอีสานเท่านั้น

forest 7

ฐานเรียนรู้ ไม้กลายเป็นหิน

บริเวณนี้สันนิษฐานว่าเคยเป็นแม่น้ำมาก่อน เพราะพบหินกรวดและหินลูกรังเป็นจำนวนมาก ลักษณะเนื้อหยาบและเนื้อหินประกอบด้วยเศษหินหรือแร่ต่างๆ ทั้งประเภทหินตะกอนและหินแปร นอกจากนี้ยังพบท่อนไม้กลายเป็นหินฝังอยู่ใต้ดินลวดลายสวยงามตามชนิดของเนื้อไม้

บริเวณลานหินกว้าง เคยถูกกลุ่มนายทุนมาลักลอบขุดและขอสัมปทานไปหลายครั้ง แต่ด้วยพลังความสามัคคีและรักในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ชุมชนจึงไม่ยินยอมให้ทางการดำเนินการ จนสามารถรักษาสภาพของลานหินกว้างไว้จนทุกวันนี้

forest 8

ฐานเรียนรู้ ดงของกินถิ่นหยูกยา

บริเวณนี้จะได้รู้จักกับพันธุ์ไม้หลากหลาย ทั้งชนิดและขนาดเป็นแหล่งอาหารหรือ “ภัตตาคาร” เหล่าสัตว์ป่าน้อยใหญ่เพราะอุดมไปด้วยผลไม้ป่า เช่น เขล็ง ผีผ่วนหมากหม้อ คายข้าว ยังมีมันป่าชนิดต่างๆ เช่น มันหืบ มันนกมันอ้อน มันน้ำ รวมถึงพืชสมุนไพรอีกหลายชนิด

ความสัมพันธ์ที่ต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน สัตว์ต้องการอาหารจากพืช เพราะไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ พืชก็อาศัยแร่ธาตุจากมูลสัตว์เจริญเติบโต ขณะเดียวกันก็อาศัยสัตว์ในการผสมเกสร และช่วยแพร่ขยายเผ่าพันธุ์ไปด้วย

forest 9

FD29BED6 D767 48FD 9609 8727B2B310C7 L0 001

FFD22438 4A6E 4322 AB0B 1994C9C47AD9 L0 001

333F7C3F B919 4D14 BF86 7D7724FACFF2 L0 001

F37EE577 99C1 481D 94DB 43F876FE712F L0 001

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.baanlaesuan.com/156673/news-update/fun_forest